เช็กลิสต์ก่อนลงทุนกองทุนดัชนี ทางเลือกนี้ใช่สำหรับคุณไหม

Gulfship News  > Finance >  เช็กลิสต์ก่อนลงทุนกองทุนดัชนี ทางเลือกนี้ใช่สำหรับคุณไหม
0 Comments
กองทุนดัชนี

กองทุนดัชนี หรือ Index Fund คือช่องทางการลงทุนที่แม้แต่นักลงทุนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เอ่ยปากชื่นชมว่า “เป็นการลงทุนในหุ้นที่มีความชาญฉลาดมากที่สุด สำหรับคนส่วนใหญ่” โดยกองทุนนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนจำนวนมากมายาวนานแล้ว อีกทั้งยังเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ และนักลงทุนที่ไม่มีเวลาศึกษาหรือติดตามข่าวสารการลงทุน คำถามคือ กองทุนนี้ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับคุณหรือไม่ เพราะคำกล่าวอ้างข้างต้น ไม่สามารถยืนยันได้ นอกจากคุณจะได้พบคำตอบด้วยตัวเอง

เช็กลิสต์กองทุนดัชนี ตอบโจทย์คุณ หรือไม่ ใช่สำหรับคุณ

กองทุนดัชนี คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่ง รู้จักกันดีในชื่อ Passive Fund เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนล้อไปกับดัชนีในตลาดหุ้น โดยไม่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าราคาประเมินมูลค่าของดัชนี (Benchmark) ยกตัวอย่างเช่น ดัชนี SET50 Index ประกอบไปด้วยหุ้นที่มีสภาพคล่องมากที่สุดในตลาด 50 อันดับแรก กองทุนดัชนีก็จะเข้าซื้อหุ้นทุกตัวตามดัชนี SET50 Index ด้วย เป็นต้น ดังนั้นหากผลการดำเนินงานของดัชนี SET50 Index ให้ผลเป็นบวกหรือลบ กองทุนก็จะให้ผลตอบแทนที่เหมือนกัน หรือแตกต่างเล็กน้อย 

มาถึงตรงนี้ใครที่สนใจลงทุนในกองทุนประเภทนี้ คงต้องเช็กลิสต์เสริมความมั่นใจกันสักหน่อยว่า ชอบการลงทุนสไตล์เรียบง่าย ไม่ต้องเลือกหุ้นรายตัวเองจริงหรือไม่ ลองไปดูกันว่า ในใจลึก ๆ ของคุณจะตอบว่าอย่างไร

  1. คุณทราบหรือไม่ว่า กองทุนนี้จะมีการปรับพอร์ตทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปีเท่านั้น
  2. คุณทราบหรือไม่ว่ากองนี้จะเลือกซื้อหุ้นเลียนแบบดัชนีที่อ้างอิงเท่านั้น จะไม่มีการคัดเลือกหุ้นตัวอื่นเข้ามาร่วมด้วยเด็ดขาด แม้หุ้นตัวนั้นจะมีพื้นฐานดี และมีโอกาสเติบโตมากเพียงใดก็ตาม
  3. คุณเข้าใจนโยบายของกองทุนดีใช่หรือไม่ว่า Passive Fund จะให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีที่อ้างอิง โดยจะไม่มีการปรับกลยุทธ์ในการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า
  4. คุณทราบหรือไม่ว่า เมื่อคุณตัดสินใจลงทุนในกองทุนดัชนีแล้ว ความเคลื่อนไหวของกองทุน จะเป็นไปตามกลไลของดัชนีที่ใช้อ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นความผันผวน ผลตอบแทน หรือแม้กระทั่งความเสี่ยง ก็จะอยู่ในระดับเดียวกันกับดัชนีอ้างอิงทั้งหมด
  5. คุณทราบใช่ไหมว่า ถึงแม้กองทุนจะไม่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าตลาด แต่การลงทุนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่

ถ้าคำตอบในใจของคุณตอบรับทราบทั้งหมด นั่นหมายความว่า กองทุนประเภทนี้ใช่สำหรับคุณแล้ว แต่ถ้ายังมีบางข้อที่คิดว่าน่าจะมีแนวทางที่ดีกว่านี้ ขอให้คุณศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนประเภทนี้เพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจ อย่าเพิ่งรีบลงทุน

เสริมความมั่นใจแก่นักลงทุน ด้วย 4 ข้อดีของกองทุนดัชนี

มาถึงคำถามที่นักลงทุนหลายคนอาจจะสงสัยอยู่ว่า ในเมื่อกองทุนดัชนีไม่เน้นสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด แล้วการลงทุนแบบนี้จะมีข้อดีอย่างไร เรามาเสริมความมั่นใจกันดีกว่าว่า เลือกกองทุนประเภทนี้ตอบโจทย์อะไรคุณบ้าง

  1. เริ่มต้นลงทุนได้ง่าย

กองทุนประเภทนี้มีลักษณะการบริหารแบบ Passive Fund ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนที่มีความเรียบง่าย เนื่องจากเป็นการลงทุนเชิงรับ นักลงทุนจึงไม่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางมากนัก เพียงมีพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุน และสามารถเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ก็เริ่มต้นลงทุนได้เลย ซึ่งแตกต่างการลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารแบบ Active Fund ที่ต้องการให้ผลตอบแทนสามารถเอาชนะตลาดได้ หรือการลงทุนในหุ้นรายตัวที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ และเทคนิคการวิเคราะห์เพื่อค้นหาหุ้นที่มีพื้นฐานดี

  1. มีค่าธรรมเนียมต่ำ

ด้วยความเรียบง่ายของกองทุนดัชนี ที่เคลื่อนไหวไปตามกลไกของตลาด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิง จึงทำให้กองทุนประเภทนี้ไม่ต้องคิดหากลยุทธ์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เอาชนะตลาดได้ ค่าธรรมเนียมจึงควรมีอัตราต่ำ

  1. ลดความเสี่ยงจากการลงทุน

เมื่อกองทุนเข้าซื้อหุ้นเลียนแบบดัชนีที่ใช้อ้างอิง และเคลื่อนไหวไปตามดัชนีนั้น ๆ ความเสี่ยงจากการลงทุนจึงลดต่ำลง เพราะหุ้นที่ถูกจัดอันดับเข้ามาอยู่ในดัชนีส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูงจากหลากหลายอุตสาหกรรม ความเสี่ยงจึงถูกกระจายไปตามหุ้นแต่ละตัวที่อยู่ในดัชนี

  1. ปรับพอร์ตน้อย 1-2 ครั้งต่อปี

ด้วยความลื่นไหลไปตามกระแสของตลาด ทำให้กองทุนนี้ไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตบ่อย ๆ นักลงทุนสามารถลงทุนระยะยาวได้ เพราะจะมีการปรับพอร์ตเพียง 1-2 ต่อปีตามที่ดัชนีกำหนดไว้เท่านั้น

เชื่อว่าตอนนี้นักลงทุนหลายคนคงได้คำตอบด้วยตัวเองแล้วว่า กองทุนดัชนีใช่ช่องทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ และถ้าตัดสินใจได้แล้วว่า จะลงทุนกับกองทุนประเภทนี้ อย่าลืมศึกษาหนังสือชี้ชวนให้ถี่ถ้วน ทั้งรูปแบบการบริหาร นโยบายการลงทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง และที่สำคัญคือค่าธรรมเนียม